10 กิจกรรมปี๋ใหม่เมือง หรือวันสงกรานต์ ‼️

วันสงกรานต์ ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของคนไทย เพราะวันสงกรานต์ เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน และวันนี้ ยังเป็นวันที่ครอบครัว จะได้อยู่พร้อมหน้า ก็จะได้ใช้โอกาสนี้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ทั้งการขนทรายเข้าวัด ทำบุญ ทำทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้เสริมสร้างคุณค่า และในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ก็มีการสืบสานประเพณีสงกรานต์ และพร้อมจะตอนรับนักท่อนเที่ยวทุกท่าน          
สืบสานฮิตฮอย ย้อนรอยปีใหม๋เมือง,สรงน้ำพระ,ตัดจ้อ-ตานตุง วันที่ 12 – 16 เม.ย. เวลา 7.00 – 22.00 น. ณ วัดโลกโมฬี
วัดโลกโมฬีเป็นที่สะดุดตาสำหรับคนที่ขับรถผ่านไปผ่านมาเมื่อขับรถผ่านถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ โดยเฉพาะความงดงามของตัววิหารที่สวยสง่าแบบศิลปะแบบล้านนา ภายในยังมีเจดีย์วัดโลกโมฬีที่เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของวัด ปัจจุบันวัดโลกโมฬีเป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และมีการจัดกิจกรรมขึ้นในเทศกาลต่างๆ อาทิ การสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในช่วงสงกรานต์ ประเพณียี่เป็งและตั้งธรรมหลวง ในช่วงประเพณียี่เป็ง กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและออกพรรษา ฯ เป็นต้น

 เจดีย์ทรายสุดส้าว,สรงน้ำพระ,ปั๋นปอน,ศิลปะพื้นบ้าน วันที่ 10 – 15 เม.ย. เวลา 8.30 – 20.00 น. ณ วัดเจ็ดลิน
วัดเจ็ดลิน ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมือง เชียงใหม่ “เจดีย์ทรายสุดส้าว” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรายที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง 18 เมตรและฐานเจดีย์กว้าง 14 เมตร และทางวัดยังให้ประชาชนได้ทำบุญ ตานตุง หรือปักตุงชัยมงคล ตามราศีเกิด ตามแบบความเชื่อโบราณล้านนา เพื่อความเป็นศิริมงมล และในโอกาสวันเทศกาลสงกรานต์ และอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ตามตำนานที่กล่าวไว้ว่า ผู้ที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทราย แม้เพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยม ก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนปัจจุบัน นอกจากนี้ทางวัดยังได้จัดให้ประชาชนได้สรงน้ำพระด้วยเจ็ดลิน ปิดทอง ลูกนิมิต มีการใส่บาตรประจำวันเกิด และทำบุญใส่บาตรครูบาจ้าว เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งล้านนาอีกด้วย

พิธีทำบุญตักบาตรครบรอบ 722 ปี การก่อตั้งเมืองเจียงใหม่
กิจกรรม Hi-Light วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2561 พิธีทำบุญตักบาตรครบรอบ 722 ปี การก่อตั้งเมืองเจียงใหม่ ณ ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2561 พิธีทำบุญตักบาตรเนืองในวันขึ้นปีใหม่ ณ ข่วงประตูท่าแพพิธีเปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ณ ข่วงประตูท่าแพการประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้องล้านนาไทยในอดีต ณ ข่วงประตูท่าแพขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่

แม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง

ในงานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2560 ในวันที่ 13 เม.ย. 2560 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และ ททท.สํานักงานเชียงใหม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของ จ.เชียงใหม่ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามรูปแบบการจัดงานที่สืบต่อกันมา
ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมการขี่รถถีบกางจ้อง ซึ่งเป็นที่นิยมของสาวเชียงใหม่ในอดีตและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนเมืองเชียงใหม่ แล้วยังเป็นการรณรงค์เชิญชวนชาวเชียงใหม่ ใช้รถจักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง เพื่อร่วมกันประหยัดพลังงาน และช่วยลดมลพิษ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประเพณีปี๋ใหม่เมืองของ จ.เชียงใหม่ ให้แพร่หลายทั่วประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก
ทางชมรมได้รับสมัครสาวงามที่มีสัญชาติไทย และมีบัตรประจําตัวประชาชน มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 25 ปี เป็นคนเมือง พูดคําเมืองได้เป็นอย่างดี มีบุคลิก รูปร่าง หน้าตาดี มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่เป็นโรคอันเป็นที่รังเกียจของสังคม สามารถขี่รถถีบกางจ้องได้เป็นอย่างดี เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีงาน มีความประพฤติดี ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีอันดีงานของสังคมไทย เป็นโสด ไม่เคยผ่านการสมรส หรือให้กําเนิดบุตรมาก่อน
สามารถขอรับระเบียบการประกวด และยื่นใบสมัครเข้าประกวดล่วงหน้า พร้อมเอกสารครบถ้วน ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่สํานักการศึกษาเทศบาลนครเชียงใหม่ โทร. 053-259169 ในวัน-เวลาราชการ และที่ศูนย์ การค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ สํานักงาน ชั้น 3 โทรศัพท์ 053-288386 หรือ สมัคร ในวันรายงานตัว วันที่ 6 เม.ย. 2560 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุม โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนไชย ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานบนรถบุษบก
ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 09.09 น.

พระเทพสิงหวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว ร่วมอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ออกจากวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกนามว่า ศรีเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
โดยเคลื่อนขบวนแห่ออกจากประตูวัดไปตามถนนราชดำเนิน เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกกลางเวียงไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุดที่ตั้งบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ เพื่อออกแห่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำสักการะ โดยมีการประดับตกแต่งขบวนแบบล้านนาอย่างสวยงามและครบครัน
สำหรับพิธีแห่พระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญจากหัววัดต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นโอกาสที่เป็นสิริมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สรงน้ำพระรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นประเพณีโบราณล้านนาที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

การประกวดเทพี เทพบุตรสงกรานต์

การประกวดเทพี-เทพบุตรสงกรานต์ ประจำปี 2559 อันถือเป็นกิจกรรมใหญ่ของงาน ”ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่”
โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการประกวดขึ้นเป็นประจำทุกปี ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชมจำนวนมาก โดยมีนายอินสม ปัญญาโสภา นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคเหนือแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการตัดสิน ผลการตัดสินตำแหน่งเทพีและเทพบุตรสงกรานต์ ประจำปี 2559

พิธีสระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่
หรือพิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นพิธีที่จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ โดยตัวแทนจากอำเภอและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกันจัดขบวนแห่เข้าสู่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำพิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือ

สมโภชน์พระสิงห์ กาดหมั้ว ประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ศิลปะพื้นบ้าน วันที่ 13 -16 เม.ย. เวลา 8.30 – 23.30 น. ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร เทศกาลสงกรานต์ทุกปีมีพิธีอาราธนาอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ออกแห่ ให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการบูชา เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
กาดหมั้ว เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นำของมาขาย มีอายุประมาณ 200-300 ปี โดยมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะของกาดหมั้วเป็นกาด ( ตลาด ) ในชุมชนที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะนำผลผลิตทางการเกษตรมาขาย พ่อค้าวัวต่างจะนำไม้ขีด เกลือ ซึ่งเป็นสินค้าที่หายากทางภาคเหนือมาขาย ลักษณะกาดไม่ค่อยมีแบบแผนสักเท่าใดนัก เป็นกาดแบบชาวบ้าน ๆ อุปกรณ์ที่จะใช้จะมี เปี้ยด ซ้า บุง ก๋วย หาบของมาขายรวมกัน ใช้จ้อง ( ร่ม ) สีแดงขนาดต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็กในการกันแดด ของที่ใช้บรรจุห่อ มีตองกล้วย ตองตึง ผักผลไม้ที่นำมาขายมีหลายอย่าง เช่น ผักหวาน ผักกาดจ้อน ผักหละ ผักแหละ ผักฮี้ ผักเฮือด ผลไม้ก็มีอย่างพวก บ่าผาง บ่าหลอด บ่าขามป้อม และผลไม้พื้นบ้านทุกอย่าง

ขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลีและขนทรายเข้าวัด

เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดพิธีแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ และขนทรายเข้าวัด เนื่องในช่วงงานประเพณีปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ซึ่งมีการจัดขบวนแห่ทั้งหมด 5 ขบวน ได้แก่ ขบวนของคณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ และแขวงทั้ง 4 แขวง
เริ่มขบวนแล้วเคลื่อนผ่านสะพานนวรัฐ ไปยังถนนท่าแพ มีขบวนทั้งหมด 5 ขบวน เพื่อจะนำไปค้ำยันต้นโพธิ์ที่วัดต่างๆ 5 วัด บนถนนท่าแพ อันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการค้ำจุนบวรพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ทั้งนี้ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือเกิดจากความเชื่อของชาวพุทธที่ว่า ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ ซึ่งนอกจากจะปลูกไว้ในวัดแล้ว ยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับเมื่อตรัสรู้อีกด้วย ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้
ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป

ขบวนแห่เครื่องสักการะสระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่

ชาวเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอ พร้อมภาครัฐและเอกชน จัดขบวนแห่เข้าร่วมพิธีสระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่กันอย่างพร้อมเพรียง รับศีลรับพรปีใหม่เมือง
พิธีสระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่ หรือพิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นพิธีที่จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ โดยตัวแทนจากอำเภอและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกันจัดขบวนแห่เข้าสู่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำพิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น