กกร. เผย 6 เดือนแรก ไทยขาดดุลจีนไปแล้วกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567  นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนกรกฎาคมของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โดยที่กำลังชื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลงกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า กระทบกับครึ่งปีหลัง ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน ทั้งเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยโดยรวมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกในอาเซียนของไทยลดลงในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก 7% (1Q/66) เหลือ 11.5% (1Q/67) และยานยนต์ลดลงจาก 20.9% (1Q/66) เหลือ 18.7% (1Q/67) เป็นผลจากที่จีนได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปีหดตัว 1.8% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการรุกตลาดอีคอมเมิร์ของสินค้าจีน

เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางแม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่ากว่า 15% ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวสะท้อนจากยอดโอนอสังหาฯ 5M/67 หดตัว -8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ 6M/67 หดตัวต่อเนื่องที่ -24%YoY และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว

กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 12%%YoY คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านตอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ที่ประชุมกกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า นำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครรราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย -จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)  เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล

ในที่ประชุม กกร. ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 67%YoY ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI แต่ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31%YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงานซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น ดังนั้น กกร. จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับ EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0

จากการที่รัฐมีข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยมีการลงทุนน้อย มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่า 25% ลดลงจากที่เคยสูงเกือบ 30% ในขณะที่มีการออมในระดับสูงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการนำเม็ดเงินมาลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ ที่ประชุม กกร. เห็นตรงกับภาครัฐว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเมืองรองและสนับสนุนการลงทุนโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (local content) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ การลงทุนเพื่อรองรับสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) และความพร้อมเรื่องทรัพยากรบุคคล

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่รายงานโดยเครดิตบูโรยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพฤษภาคมสูงถึง 14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%YoY สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง ที่ประชุม กกร. เห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐจะเร่งรัดผันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจโดยที่ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการยกระดับกลุ่มฐานราก และภาคการผลิต ใน Real Sector ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับกิจการและแรงงานตลอด Supply Chain อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ลูกหนี้และภาคธุรกิจเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้หรือรวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้

ที่ประชุม กกร. เห็นว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีเป็นความจำเป็นเร่งด่วนโดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา ซึ่งจะช่วยหนุนภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งการจ้างงานให้ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเร็ว เติมสภาพคล่องในระบบเพื่อสนับสนุนกำลังชื้อที่อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ภาครัฐควรนำเทคโนโลยี เช่น Block Chain มาพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถติดตามสถานะได้ตลอดเวลา ช่วยควบคุมการรั่วไหลข้อมูลด้านราคาป้องกันการสมยอมกันระหว่างหน่วยงานกับผู้ขาย หรือการสมยอมกันในหมู่ผู้ขาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น