สพฐ. จับมือเอกชน พัฒนาเด็กผ่านการเล่นเกม

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ บริษัท เอ็ดดู พลอยส์ เกมแอนด์ทอย จำกัด โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นางสาวลักษณ์สิดี ก่อเกียรตินารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ดดูพลอยส์ เกมแอนด์ทอย จำกัด นายกฤตพงศ์ งามกิจไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการฯ นางศศิธร เจตน์เจริญ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมและการตลาดฯ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า ในนาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร บริษัท เอ็ดดูพลอยส์ เกมแอนด์ทอย จำกัด ที่เห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียน สังกัด สพฐ. กว่า 6 ล้านคน โดยการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกันในวันนี้ ผมรู้สึกดีใจแทนเด็กๆ ยุคนี้ ที่มีภาคเอกชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการเล่น ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า การเล่นคือที่สุดของการค้นคว้า ไม่มีวิธีการเรียนรู้ใด จะสุดยอดเท่ากับการเล่น การเล่นช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ถูกต้องว่า “ของเล่น” ไม่ได้ไร้ประโยชน์ แต่ช่วยสร้างการเรียนรู้ ตามที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ได้ ดังนั้น การได้เห็นเด็กๆ นั่งล้อมวงเป็นกลุ่ม เล่นเกมต่อคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เกมต่อเลขคำนวณคณิตศาสตร์ เกมคำคมต่ออักษรภาษาไทย จึงเป็นภาพที่น่าชื่นใจ ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาได้คิดเลข ได้รู้จักคำศัพท์ภาษาต่างๆ แต่เพราะระหว่างการล้อมวงเล่มเกมกระดาน เด็กๆ ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ การวางแผน เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนในวง เกิดความรู้สึก ทั้งดีใจ ผิดหวัง โมโห หรือแอบคิดแผนการเล่นที่ไม่ซื่อ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็นแบบฝึกอย่างดีสำหรับการฝึกทักษะทางสังคม ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งด้านทักษะวิชาการและสุขภาพจิตใจที่ดี

“เมื่อทราบว่ามีภาคเอกชน ขอร่วมลงนามความร่วมมือ
เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านการร่วมกิจกรรมที่บริษัทจะจัดขึ้น จึงรู้สึกยินดีที่เด็กๆ ทั่วประเทศจะได้มีเวทีฝึกฝนทักษะและพัฒนาศักยภาพของตนเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นที่งดงามของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับ MOU ฉบับนี้ มีระยะเวลา 3 ปี โดยบริษัท เอ็ดดูพลอยส์ เกมแอนด์ทอย จำกัด มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม และสนับสนุนให้โรงเรียนในกลุ่มเป้าหมาย ได้เข้าร่วมโครงการการแข่งขันเกมกีฬาทางวิชาการ อาทิ ครอสเวิร์ดเกม (เกมต่อศัพท์ภาษาอังกฤษ) เอแม็ท (เกมต่อเลขคำนวณคณิตศาสตร์) คำคม (เกมต่ออักษรภาษาไทย) ซูโดกุ (เกมถอดรหัสปริศนาตัวเลข) และบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาอื่น ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะและได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมทั้งสนับสนุนสถานที่จัดกิจกรรม จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ในการจัดกิจกรรมการแข่งขันเกมกีฬาทางวิชาการ โดยจัดกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดการแข่งขันตลอดจนสิ้นสุดโครงการ

ขณะที่ สพฐ. มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมการจัดงานฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ และแจ้งโรงเรียนในสังกัดที่มีความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันที่จัดขึ้นตลอดทุกรายการ โดยสนับสนุนให้ครูที่สนใจในการสอนแบบ Active Learning ได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถ เพื่อต่อยอดการจัดการเรียนการสอนต่อไป รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนที่มีความสนใจในการเล่นครอสเวิร์ดเกม (เกมต่อศัพท์ภาษาอังกฤษ) เอแม็ท (เกมต่อเลขคำนวณคณิตศาสตร์) คำคม (เกมต่ออักษรภาษาไทย) ซูโดกุ (เกมถอดรหัสปริศนาตัวเลข) และบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาอื่น ๆ เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน เพื่อให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาตามศักยภาพ และสามารถต่อยอดความรู้ต่อไปได้ และสนับสนุนให้มีการจัดการแข่งขันเกมกีฬาทางวิชาการ อาทิ ครอสเวิร์ดเกม (เกมต่อศัพท์ภาษาอังกฤษ) เอแม็ท (เกมต่อเลขคำนวณคณิตศาสตร์) คำคม (เกมต่ออักษรภาษาไทย) ซูโดกุ (เกมถอดรหัสปริศนาตัวเลข) ในการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนในสนามแข่งขันจริง รวมถึงพัฒนาศักยภาพตัวเอง และเป็นการต่อยอดของกิจกรรมในระยะยาว ทั้งนี้ MOU ฉบับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย และสามารถเก็บเป็นข้อมูลแฟ้มสะสมผลงานผู้เรียนเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตได้ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
CR.ปชส.สพฐ.

ร่วมแสดงความคิดเห็น