เด็กชายแฮรรี่ วัตต์ ยุวทูตวัฒนธรรมชาวเชียงใหม่ วัย 14 ปี กับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

🤩🤩เด็กชายแฮรรี่ วัตต์ ยุวทูตวัฒนธรรมชาวเชียงใหม่ วัย 14 ปี กับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ 🤩🤩

เด็กชาย หฤษฐ์ แฮรรี่ วัตต์ (แฮรรี่ ) ชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด วัย 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หรือ (Y9 )โรงเรียนนานาชาติลานนา จังหวัดเชียงใหม่ จะเข้ารับรางวัลอันทรงเกียรติ 2 รางวัล (ล่าสุด) เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2567
วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร. 9 กรุงเทพมหานคร คือ รางวัลต้นกล้าเสมาคุณาธร (โล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรี) และรางวัลสุดยอดเยาวชนคนต้นแบบ 2024 (โล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)

น้องแฮรรี่ เป็นหนุ่มน้อยลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เป็นบุตรของ Mr Philip Terence Watts ชาวอังกฤษ วัย76 ปี อาชีพ อดีตวิศวกร ปัจจุบัน ท่านเกษียณอายุ ใช้เวลาว่างในการเขียนแต่งเพลง เชื่อว่า น้องแฮรรี่ คงมีสายเลือดศิลปินเหมือนคุณพ่อ กับ นางชญานิษฐ์ (แม่เก๋) ทาอุปรงค์ วัย 50 ปี อาชีพ แม่บ้าน มีพี่สาว 1 คน คือ นางสาวเหมือนฝัน (ดรีม) ทาอุปรงค์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและแผน ประจำหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แม้ว่า น้องแฮรรี่ จะเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ และเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนนานาชาติลานนา ที่เน้นการสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อาจไม่ได้ซึมซับกิจกรรมวิถีไทย แต่ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัวของคุณแม่ชาวไทย สาวงามจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่ฝักใฝ่ในพุทธศาสนา และยึดมั่นในวัฒนธรรม ประเพณีล้านนา จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย-ล้านนา

น้องแฮรรี่ จัดเป็นเด็กกิจกรรม มักร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนฯ เช่น คณะกรรมการนักเรียนในระดับชั้นเรียน /ตัวแทนร่วมทีมในการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับ/ นักกีฬาเทควันโด / นักดนตรี ทั้งเปียโนและกีตาร์ รวมถึงเคยฟ้อนดาบ ร่วมกับคณะกลองสะบัดชัย ในงานฉลองชัย ครบรอบปีที่ 30 โรงเรียนนานาชาติลานนา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ฯลฯ

น้องแฮรรี่ เริ่มเรียนฟ้อนดาบ ครั้งแรก ตอนอายุ 12 ขวบ กับอาจารย์ปรีชา บุญอินทร์ หรือ ครูวุฒิ ครูสอนนาฏศิลป์ โรงเรียนเทศบาลหางดง(ประชาคมสร้างสรรค์) นับเป็นการจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กชายคนหนึ่งให้มีความสุขในการเรียนฟ้อนดาบ
​ ต่อมาน้องแฮรรี่ มีโอกาสเรียนศิลปล้านนาเพิ่มเติม กับ ครูดาว นางสาวปิยะมาศ คีรีแก้ว นักกายภาพบำบัดชำนาญการ ซึ่งเป็น ครูจิตอาสาสอนศิลปะฟ้อนรำจากกลุ่มเยาวชนวัฒนธรรมสันกำแพง เช่น การฟ้อนเจิง ฟ้อนน้อยใจยา เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น จึงได้รับโอกาสให้เข้าร่วมหลายกิจกรรม ที่เกี่ยวกับด้านศิลปวัฒนธรรม

ทางสภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพงได้คัดเลือกยุวทูตสภาวัฒนธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซีย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเยาวชนผ่านคัดเลือก 4 คน คือ

  1. เด็กชาย หฤษฐ์ แฮรรี่​วัตต์​โรงเรียนนานาชาติลานนา เชียงใหม่
  2. เด็กหญิง พรปวีณ์​ ไชยโย​ โรงเรียนวิชัยวิทยาเชียงใหม่
  3. เด็กหญิงกัลป์ยกร​ ปราโมช​ โรงเรียนวารีเชียงใหม่
  4. เด็กหญิงสิริลดา พา​อุปรา​ โรงเรียนยุวทูตศึกษาพัฒนา
    โดยมี อาจารย์อนันต์ สุคันธรส ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ ควบคุมดูแล นำทีมไปร่วมงานเทศกาลร่มนานาชาติ (Festival Payung Indonesia 2024) ณ เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6-8 กันยายน 2567 ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุด จาก Kanjeng Gusti Adipati Aryo Mangkunegoro X The king of Pura Mangkunegara.
    กษัตริย์แห่ง Pura Mangkunegara เขตชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานเปิดงาน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมงานอย่างคับคั่ง

เกียรติประวัติ(โดยสังเขป)

-รางวัลโล่และประกาศกียรติคุณ เยาวชนดีเด่น ประจำปี2566 สาขาคุณธรรม จริยธรรมและการบำเพ็ญประโยชน์
จาก สภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของของมนุษย์
เกียรติบัตรลงนามโดย นายอนุกูล ปิดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ประธานในพิธี นายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

-รางวัล เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566
จัดโดย สภาศิลปินสร้างสรรค์สังคม และภาคี กระทรวงวัฒนธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดย หม่อมราชวงศ์ ปณิธาน จรูญโรจน์ พระนัดดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

-รางวัล “เพชรเมืองเหนือ ประจำปี2566 วัฒนธรรมล้ำค่า สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น กลิ่นอารยธรรมล้านนา ทรงคุณค่าละอ่อนเมืองเหนือ”
จัดโดย สภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เกียรติบัตรลงนามโดย นาย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566

-รางวัล เพชรเมืองเหนือ รางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้ส่งเสริมและอนุรักษ์ กิจกรรมทางวัฒนธรรมไทย
ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 จัดโดย สภาองค์กรเยาวชนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เกียติบัตรลงนามโดย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานในพิธี คือ นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

-รางวัล เยาวชนต้นแบบวัฒนธรรมนครพิงค์ ประจำปี 2567
จัดโดย ศูนย์การเรียนรู้บ้านสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 รับมอบเกียรติบัตรจาก นายธวัชชัย อุบลพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

-รางวัล ทูตสงกรานต์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 เพื่อทำหน้าที่ทูตประชาสัมพัมพันธ์
อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

น้องแฮรรี่ ได้กล่าวทิ้งทายไว้อย่างน่าประทับใจ “…ผมสนใจเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและล้านนา จากคำแนะนำของแม่เก๋ ผ่านวิถีชีวิต ทุกครั้งที่แม่เก๋ พาครอบครัวไปเยี่ยมคุณยาย ที่บ้านอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พวกเราจะได้ไปไหว้พระ ทำบุญ เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี แบบล้านนา ตั้งแต่เด็กๆ
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อแม่เก๋ถามว่าสนใจเรียนรำดาบหรือไม่ ตอนแรกผมไม่สนใจ เพราะดูไม่น่าตื่นเต้น แต่เมื่อเปิดใจเรียนรู้ตามคำแนะนำ ผมเกิดหลงรัก เริ่มจากการรำดาบ มีโอกาสได้ร่วมการแสดงบนเวทีกิจกรรมต่างๆ จึงได้หัดนาฏศิลป์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ฟ้อนล้านนา การแสดงโขน ตอนนี้ผมมีความสุขกับการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เสมือนเปิดโลกทัศน์ ให้ได้พบปะผู้คนมากมาย

นับเป็นโอกาสดีของชีวิตที่ผมได้รับคัดเลือก ให้เป็น 1 ใน 4 ยุว
ทูตวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6-8 กันยายน 2567 ในงานเทศกาลร่มนานาชาติ ที่เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเชีย งานครั้งนี้ให้ประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ผมได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ช่วยสร้างมิตรภาพอันดีกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ

แทบไม่อยากเชื่อว่า ตอนนี้ผมมีความสุขและรู้สึกสนุก เมื่อเห็นการแสดงต่างๆในบนเวที งานศิลปวัฒนธรรม ผมอยากเข้าไปมีส่วนร่วมทุกครั้งด้วยความรู้สึกรักและภาคภูมิใจ จนบางครั้งอยากบอกแม่เก๋ว่า ขอดาบคู่ใจให้ผมด้วยครับ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น